นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2557 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกได้เผชิญกับภาวะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว โดยลดลงถึงร้อยละ 48 จากราคาที่สูงกว่า 105 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในเดือนก.ค. 2557 เหลือเพียง 54.2 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลในวันที่ 31 ธ.ค. 2557 ซึ่งนับเป็นราคาที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี โดยมีสาเหตุจาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของอุปทานน้ำมันในตลาดโลกอย่างมาก อันเป็นผลจากการผลิตน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของสหรัฐฯ ด้วยการขุดเจาะน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) โดยใช้เทคโนโลยีการขุดเจาะแบบใหม่ตามแนวนอนที่เรียกว่า Horizontal Drilling รวมถึงการที่ประเทศอื่นๆ อย่างแคนาดาได้เพิ่มการผลิตน้ำมันจากทรายน้ำมัน (Tar Sands) มากขึ้น ในขณะที่ชาติสมาชิกโอเปกก็ยังคงกำลังการผลิตน้ำมันไว้ตามเดิม ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันลดต่ำลง คือ การลดลงของความต้องการใช้น้ำมันในหลายประเทศ จากความเปราะบางของเศรษฐกิจ อาทิ ญี่ปุ่นและอียู
ทั้งนี้ การลดลงของราคาน้ำมันนับเป็นผลดีต่อประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ ซึ่งรวมถึงกลุ่มประเทศอาเซียน ตามปัจจัยสนับสนุน ดังต่อไปนี้
มูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบที่ลดลงส่งผลบวกต่อดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ของประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ประเทศไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดราวร้อยละ 2 ของ GDP ในปี 2558 นี้ นอกจากนี้ การลดลงของราคาน้ำมันย่อมส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศจีน สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิรายใหญ่ รวมถึงยังเป็นตลาดส่งออกและตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สำคัญของอาเซียน ดังนั้น การส่งออกและการท่องเที่ยวของอาเซียนโดยรวมคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น
หากแต่ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันสุทธิในอาเซียนซึ่งได้แก่ มาเลเซีย และบรูไนอาจประสบความท้าทายจากรายได้จากการส่งออกน้ำมันที่ลดลง อย่างไรก็ดี มาเลเซียมีฐานะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสะสมต่อเนื่อง อันส่งผลให้ฐานะการเงินของประเทศยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นกังวล
ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงน่าจะส่งผลให้มีการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้น เนื่องจากครัวเรือนมีภาระค่าใช้จ่ายน้อยลง รวมทั้งต้นทุนของภาคธุรกิจในการผลิตและการขนส่งมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ซึ่งจะช่วยชะลอการปรับราคาสินค้าในตลาดได้ และช่วยให้ในระยะนี้สถานการณ์เงินเฟ้อของอาเซียนอยู่ในภาวะผ่อนคลายมากขึ้น
ด้วยสภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลงตามระดับราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศในอาเซียนมีพื้นที่สำหรับการผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ยกตัวอย่างเช่น อินโดนีเซียที่น่าจะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะนี้ หลังจากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนับจากรัฐบาลประกาศลดการอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศ รวมไปถึงฟิลิปปินส์ที่ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 4 ภายหลังอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงมาจากร้อยละ 4.3 ในเดือนต.ค. 2557 เป็นร้อยละ 3.7 ในเดือนพ.ย. 2557 ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบปี 2557 นับเป็นการลดความกังวลของธนาคารกลางฟิลิปปินส์ในการจัดการกับปัญหาเงินเฟ้อ
สถานะดุลการคลังของประเทศในอาเซียนมีโอกาสปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากเป็นจังหวะให้ภาครัฐสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายผ่านการลดการอุดหนุนราคาน้ำมัน โดยไม่กระทบต้นทุนของภาคธุรกิจและค่าใช้จ่ายประชาชน และสามารถนำงบประมาณภาครัฐไปใช้จ่ายกับโครงการเพื่อการพัฒนาประเทศได้มากขึ้น เห็นได้จากว่ามาเลเซีย และอินโดนีเซียเริ่มมีการปรับลดการอุดหนุนราคาน้ำมัน และไทยเริ่มมีการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันโดยการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล
ทั้งนี้ การที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงก็มีผลลบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจอาเซียนด้วยเช่นกัน ผ่านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนและประเทศผู้ส่งออกพลังงานสุทธิรายใหญ่อย่างรัสเซีย และกลุ่มประเทศสมาชิกโอเปก โดยผลจากการร่วงอย่างหนักของราคาน้ำมัน ทำให้ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ต้นทุนทางการเงิน และภาระหนี้ต่างประเทศของรัสเซียเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อตราสารทางการเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่ และอาจนำไปสู่ปัญหาด้านเสถียรภาพของค่าเงินในตลาดเกิดใหม่อื่นๆ เช่น อินเดีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น